วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมที่ 9

ครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร

๑. มีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง คือเมตตากรุณาโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่คิดทวงคืนจากศิษย์ กระทำอย่าง ไม่ขาดตอนและไม่ลดละ ทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรทำ ให้เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ ควรให้ ไม่ว่าจิตใจของครู ในขณะนั้น จะเป็นอย่างไร บ่อของความเมตตา กรุณา ในใจของครู ยังมั่นคง เต็มเปี่ยม พร้อมที่จะเผื่อแผ่ไหลหลั่ง เจือจานลูกศิษย์ได้เสมอ
๒. มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ตลอดชีวิต กัลยาณมิตร แปลตามตัวก็คือ เพื่อนที่ดี สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านรับสั่งเสมอว่า ผู้ใด มีพระองค์ท่าน เป็นกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะมีชีวิตรอด ความรอดนั้นคือรอดจากความทุกข์ รอดจากสิ่งที่เป็นปัญหา
ไม่ว่าศิษย์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำงานการมีตำแหน่งหน้าที่อย่างใด ครูก็ยังห่วงใยติดตาม ด้วยความหวังดี ไม่ว่าศิษย์ จะเป็นคนอย่างไร จะไปประกอบอาชีพใด มีชีวิตหักเหอย่างไร ถ้าได้ทราบว่า ลูกศิษย์ไปตกอยู่ในอันตราย หรือตกอยู่ในความเขลา หรือกำลัง คิดจะทำอะไรที่ผิด ครูซึ่งเป็น กัลยาณมิตร ของศิษย์ จะให้คำแนะนำ ตักเตือน ว่ากล่าว แต่หากลูกศิษย์ไปดี เจริญก้าวหน้า ทำตน เป็นประโยชน์แก่สังคม ครูก็อนุโมทนา ชื่นชมยินดี แม้ลูกศิษย์ จะไม่ทราบ แต่ครูก็ชื่นใจ และมีสิทธิ ที่จะรู้สึกเช่นนั้นได้
๓. มีความซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นครู ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน บางครั้งก็เกิดความหวั่นไหว เพลี่ยงพล้ำ ศรัทธาที่มีต่ออุดมคติ ที่ตั้งไว้ก็คลอนแคลนไปบ้าง เพราะเหตุปัจจัยบางอย่างชวนให้ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย สิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่ครูต้องมีเจตนารมณ์ ที่แน่วแน่ ในการมุ่งสร้างสังคม สร้างชาติ บ้านเมือง ด้วยการสร้างเด็กให้เป็นพลเมืองดี ผลพลอยได้ก็คือการสร้างโลกให้น่าอยู่ หากครูสิ้นหวัง เสียอาชีพเดียว โลกจะล้มละลาย สภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ทุก- วันนี้ ก็เพราะความอ่อนแอของครู บางส่วน ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เข้มแข็งพอ
๔. อดทนและเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ผู้เป็นครูไม่สามารถปฏิเสธการร่วมรับผิดชอบในความเสื่อมหรือ ความเจริญ ของสังคม ที่เกี่ยวข้องได้ เราปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าสภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ผลิตผลของการศึกษา และเราพอใจแล้วหรือยัง แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และมีภาระส่วนตัว มากเพียงใด ครูก็ยังคงต้องเป็นผู้เสียสละ เห็นแก่ธรรมะ และความถูกต้องของสังคม
๕. เป็นเสมือนประภาคารหรือดวงประทีปของศิษย์ ครูเป็นผู้อบรมพัฒนาจิตของศิษย์ให้มีสติปัญญา อันถูกต้อง เป็นสัมมา ทิฏฐิ ในทางธรรม ท่านเปรียบความสำคัญของสัมมาทิฏฐิว่า เป็นเสมือนเข็มทิศ แผนที่ รุ่งอรุณ หรือดวงประทีปส่องทาง เพราะสติปัญญา ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะช่วยไม่ให้ชีวิตนั้น หลงทาง จะรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง แม้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น ก็แก้ไขได้ด้วยสติปัญญา
๖. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ครูต้องสามารถกระทำได้อย่างที่สอนศิษย์ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างเขา แต่ผู้เป็นครู จะต้องมีจุดยืน ให้เห็นว่า นี่คือความถูกต้อง ถ้าลูกศิษย์ ไปประสบปัญหาชีวิต แล้วกลับมา หาครูเพื่อขอคำปรึกษา ครูต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องชี้ให้ลูกศิษย์เห็น และกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความถูกต้อง โดยธรรม นี่คือวิธีที่เราจะยกฐานะของสังคมให้เป็นโลกของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง โลกของคน
แหล่งที่มา: http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Dokya/D117/055.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น